การเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง (Self Directed)
นักวิจัยทางการศึกษาค้นพบว่าการเรียนรู้จะดำเนินไปได้อย่างดีก็ต่อเมื่อผู้เรียนสามารถที่จะกำหนดทิศทางและวีถีการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง (Self Directed) หากผู้เรียนมีการโอกาสสร้างความรู้ขึ้นเองก็จะเข้าใจความรู้นั้นได้ดีกว่าการถ่ายทอดจากผู้อื่น Seymour Papert ให้แนวคิด “Constructionism” ไว้ว่า “การเรียนรู้ที่ดีไม่ได้มาจากการหาวิธีการสอนที่ดีกว่าของครูแต่มาจากการให้โอกาสแก่ผู้เรียนในการสร้างเพราะการเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ดีก็ต่อเมื่อผู้เรียนมีส่วนร่วมในการสร้างผลิตผลที่มีความหมายต่อตน”
แนวคิด Constructionism
เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่จะเกิดขึ้นเมื่อมีการเรียนรู้ที่เกิดจากการทำโครงการที่ท้าทายความสามารถ Constructionism เป็นทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ด้วยปัญญาที่เน้นให้ผู้เรียนพัฒนาศักยภาพความคิดโดยอาศัยเทคโนโลยี เช่น ระบบคอมพิวเตอร์ ระบบสมองกลฝังตัว (Embedded System) เป็นเครื่องมือสนับสนุนการเรียนรู้ที่มุ่งพัฒนาความคิดสร้างสรรค์เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ร่วมกับวิทยาการแขนงต่าง ๆ รวมทั้งสามารถนำไปสร้างสรรค์นวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ได้
เทคโนโลยีสมองกลฝังตัว
เทคโนโลยีสมองกลฝังตัวถูกนำไปประยุกต์ใช้งานอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมอาหาร เกษตร ยานยนต์ ขนส่ง พลังงาน สิ่งแวดล้อม เครื่องใช้ไฟฟ้า การสื่อสาร การแพทย์ ฯลฯ สามารถพบได้ในอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ เครื่องจักรที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า โทรศัพท์ โทรทัศน์ รถยนต์ เป็นต้น ระบบสมองกลฝังตัวคืออุปกรณ์ที่ชิ้นส่วนภายในประกอบด้วยโครงสร้างคอมพิวเตอร์ที่ถูกออกแบบให้สามารถเขียนโปรแกรมเพื่อทำการประมวลผลได้ โครงสร้างคอมพิวเตอร์ที่ใช้จะมีขนาดเล็กสามารถเก็บรหัสคำสั่งโปรแกรมไว้ภายในตัวชิพ (Chip) โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์สำรองข้อมูลภายนอกเช่น Hard Disk
Microcontroller Based Embedded System
คือ ระบบสมองกลฝังตัวที่ใช้ Microcontroller (MCU) ทำหน้าที่ประมวลผลแทน Microprocessor ที่ใช้ประมวลผลงานที่มีความซับซ้อนและต้องมีส่วนประกอบเพิ่มเติมที่แยกออกจากตัว Microprocessor แตกต่างจาก Microcontroller ที่จะรวบรวมส่วนประกอบทั้งหลายมาไว้ในชิพเดียวกันทำให้ใช้งานง่าย มีขนาดเล็ก และราคาถูก
การใช้งานระบบสมองกลฝังตัวเริ่มจากการเขียนโปรแกรมให้ประมวลผลตามต้องการจากนั้นจึงบันทึกรหัสคำสั่งของโปรแกรมลงบนตัวชิพเพื่อนำไปใช้งานต่อไป
ปัจจุบันมีผู้ผลิต Microcontroller Chip ในรูปแบบวงจรรวม (Integrated Circuit) เป็นจำนวนมากและมีการนำมาผลิตเป็น Development Board สำหรับพัฒนาระบบสมองกลฝังตัวจนเป็นที่นิยมและมีการนำไปประยุกต์ใช้งานอย่างแพร่หลายทั่วโลก เช่น Arduino และ NodeMCU เป็นต้น
ระบบสมองกลฝังตัวเป็นเทคโนโลยีที่มีการใช้งานอย่างแพร่หลาย สามารถนำมาประยุกต์ออกแบบพัฒนานวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ ได้อย่างหลากหลาย องค์กรภาครัฐและเอกชนหลายแห่งให้ความสำคัญและมีการจัดทำห้องปฏิบัติการระบบสมองกลฝังตัวกันมากขึ้นเพราะสามารถนำมาใช้เป็นองค์ประกอบในการทำวิจัยและพัฒนาในรูปแบบ R&D (Research and Development) เพื่อสร้างความเป็นต่อในเชิงบริหารและเชิงธุรกิจได้
การนำระบบสมองกลฝังตัวมาใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการคิดค้นสร้างนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ในรูปแบบการเรียนรู้โดยการสร้างโครงงานหรือ Project Based Learning ตามแนวคิด Constructionism จะสามารถสร้างบรรยากาศที่ส่งเสริมให้เกิดสังคมเรียนรู้ขึ้นภายในองค์กรซึ่งจะเป็นการผลักดันศักยภาพของบุคลากรให้ปรากฏเป็นรูปธรรมตามแนวคิด Constructionism ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แหล่งอ้างอิง
Disclaimer: ข้อมูลนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาและทำความเข้าใจเท่านั้น ไม่ควรถือเป็นคำแนะนำทางวิชาการหรือทางการค้า